วงจรชีวิตของมอดกาแฟ (Coffee Berry Borer) และวิธีป้องกันมอดในกาแฟ

มอดกาแฟหรือที่รู้จักกันในชื่อ Coffee Berry Borer; CBB (Hypothenemus hampei) เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีต้นกำเนิดมาจากแถบแอฟริกาเช่นเดียวกับกาแฟอราบิก้า จึงส่งผลให้มอดเป็นแมลงศัตรูพืชตัวหลักของกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า แต่ก็สามารถระบาดในกาแฟชนิดอื่นๆได้

ปัจจุบันปัญหาเรื่องมอดกำลังระบาดไปในหลายพื้นที่ในประเทศไทยและทั่วโลก แต่เกษตรกรหลายท่านยังมองภาพของปัญหาไม่ชัดเจน ดังนั้นเพื่อที่จะรับมือกับมอดได้อย่างถูกต้อง การเข้าใจวงจรชีวิตของมอดและผลกระทบ จะช่วยให้หลายท่านเข้าใจความรุนแรงของปัญหานี้มากขึ้น

วงจรชีวิตของมอดกาแฟ

1.มอดตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ออกเดินทางหาผลกาแฟสำหรับเป็นบ้านเพื่อวางไข่

มอดกาแฟตัวเมีย 1 ตัวต้องการเมล็ดกาแฟ 1 เมล็ด(ดังนั้นใน 1 ผลอาจจะมีมอด 2 ตัวก็ได้) เพื่อวางไข่

2.มอดตัวเมียเจาะเข้าไปยังผลกาแฟ

มอดตัวเมียจะเจาะเข้าไปยังด้านล่างของผลกาแฟในกรณีที่ผลยังสดอยู่ แต่ถ้าเป็นผลแห้งมอดสามารถเจาะด้านไหนก็ได้ มอดชอบผลกาแฟที่แห้งคาต้นมากกว่าผลกาแฟสด

3.มอดตัวเมียจะทำการวางไข่ในเมล็ดกาแฟ

มอดตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ในเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 60 – 100 ฟอง

4.ตัวอ่อนฟักออกจากไข่และกินเมล็ดกาแฟเป็นอาหาร

เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งอาหารให้กับตัวอ่อน และมอดกาแฟ

ดังนั้นถ้าเมล็ดกาแฟถูกมอดเจาะเป็นเวลานานเมล็ดกาแฟจะเสียหายหนัก 

5.ตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นดักแด้จากนั้นจึงกลายเป็นตัวเต็มวัย

ภายใน 25 – 60 วัน ตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย

6.มอดตัวเต็มวัยจะแบ่งได้เป็นเพศผู้และเพศเมีย

มอดเพศผู้มีขนาดตัวเล็กกว่าตัวเมีย ไม่สามารถบินได้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียวและไม่เคยออกจากเมล็ดกาแฟ ดังนั้นมอดที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นมอดตัวเมียทั้งหมด

7.มอดเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะออกเดินทางไปหาผลกาแฟผลใหม่และเริ่มทำในหัวข้อที่ 1 ต่อไป

มอดตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยจะผสมพันธุ์กัน จากนั้นมอดตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะเดินทางไปหาที่อยู่ใหม่หรือ ผลกาแฟผลใหม่สำหรับวางไข่แทนขยายพันธุ์ต่อไป

ความเร็วในการแพร่กระจายของมอด

สมมุติว่านำมอด 1 ตัวไปปล่อยไว้ในสวนกาแฟ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมอดสามารถวางไข่ได้ประมาณ 60 – 100 ใบต่อผลกาแฟ 1 ผล ดังนั้นสมมุติว่า มอด 1 ตัว สามารถผลิตมอดโตเต็มวัยได้ประมาณ 20 ตัว

สมมุติว่าตั้งแต่วางไข่จนได้ตัวเต็มวัยใช้เวลาอยู่ที่ 30 วัน เมื่อเวลาผ่านไป 5 เดือน

วิธีคำนวนง่ายๆคือมอดสามารถเติบโตได้ด้วยอัตราเร่งแบบ Exponential คือ 20 ยกกำลัง 5

ดังนั้นมอด 1 ตัวเมื่อผ่านไป 5 เดือน จะมีมอดในสวนกาแฟทั้งหมด 3,200,000 ตัว (สามล้านสองแสนตัว)

ถ้าคำนวนคร่าวๆว่ามอด 3.2 ล้านตัวโจมตีเมล็ดกาแฟแต่ละเมล็ด เท่ากับว่าเมล็ดกาแฟเสียหายกว่า 3.2 ล้านเมล็ดคิดเป็นน้ำหนักรวมทั้งหมดประมาณ 640 กิโลกรัม (เมล็ดสาร 1 เมล็ดหนัก 0.2 กรัม) หรือมูลค่ากว่า 102,400 บาท (ราคากาแฟสารกิโลละ 160 บาท)

วิธีการป้องกันมอด

CBB-cycle

เนื่องจากมอดใช้เวลากว่า 90% อยู่ในเมล็ดกาแฟ ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงมีอยู่หลักๆ 2 วิธีคือ

1.ป้องกันไม่ให้มอดเดินทางไปหาบ้านใหม่

จะมีแต่มอดตัวเมียเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปวางไข่ที่ผลกาแฟผลอื่นได้ การป้องกันไม่ให้มอดเดินทางสามารถลดการแพร่กระจายของมอดได้

กับดักมอดสามารถป้องกันการเดินทางของมอดได้ ส่วนใหญ่กับดักจะเป็นการวางเหยื่อเพื่อดึงดูดมอดมา โดยกับดักจะทำหน้าที่ฆ่ามอดไปในตัว

ส่วนใหญ่เหยื่อทำได้เองจากการผสมแอลกอฮอล์ 2 ชนิดเข้าด้วยกันได้แก่ Metanal และ Ethanal ในอัตราส่วน 1:1 หรือ 3:1 และต่อเข้ากับขวดสีแดงโดยภายในขวดจะมีน้ำสบู่ไม่มีกลิ่นผสมอยู่ช่วยลดแรงตึงผิวส่งผลให้มอดจมน้ำตาย

รูปจาก Messing 2012

แต่งานวิจัย Messing, 2012 ชี้ว่าการวางเหยื่ออาจจะไม่ใช้วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดมอดเนื่องจากปริมาณมอดที่ดักได้เป็นเพียงแค่จำนวนน้อยจากปริมาณทั้งหมด เช่นในโคลอมเบียมีข้อมูลว่ามีมอดกว่า 3 ล้านตัวต่อหนึ่งเอเคอร์ โดยที่เหยื่ออาจจะสามารถดักได้ประมาณหลักพันตัวเท่านั้น

แต่การวางเหยื่อเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่ามีปริมาณมอดอยู่ในพื้นที่เท่าไร ถ้าดักได้เยอะแสดงว่าบริเวณนั้นมีปริมาณมอดอยู่หนาแน่น

ดังนั้นวิธีนี้อาจจะช่วยลดความรุนแรงในการแพร่กระจายของมอด แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้

2.ทำลายบ้านของมอด

จากงานวิจัย Mendesil et al., 2004 พบว่ามอดจะโจมตึผลกาแฟอย่างหนักช่วงที่ผลกาแฟเริ่มสุก โดยเจาะเข้าทางฐานใต้ผลกาแฟ

เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ติดผลปีละครั้งมอดจำเป็นต้องมีที่อยู่ในช่วงที่ผลกาแฟยังไม่ติดผล และที่อยู่นั่นคือผลที่แห้งคาต้นหรือผลที่ร่วงอยู่บนพื้น

Mendesil พบว่าจำนวนของมอดในผลกาแฟที่ค้างอยู่บนต้นมีจำนวนมากกว่าผลกาแฟที่ตกอยู่ที่พื้น แสดงว่ามอดชอบผลกาแฟที่แห้งคาต้นมากกว่าผลกาแฟที่ตกบนพื้น

รูปจาก Mendesil 2004

แต่ในกรณีที่ไม่มีผลกาแฟแห้งคาต้น ผลกาแฟที่หล่นบนพื้นก็เป็นหนึ่งแหล่งขยายพันธุ์ของมอด

ดังนั้นการทำลายเมล็ดกาแฟที่ค้างคาต้น หรือตกหล่นน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้มอดแพร่กระจาย และป้องกันไม่ให้มอดข้ามจากฤดูกาลหนึ่งไปยังอีกฤดูกาลหนึ่ง

สรุป

มอดเป็นแมลงศัตรูพืชของกาแฟที่ใช้เวลากว่า 90% อาศัยอยู่ในผลกาแฟ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการกำจัดได้ แต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยความอดทนและใส่ใจ

วิธีป้องกันมอดที่ดีที่สุดคือ

  1. ทำลายผลกาแฟที่มีมอดเจาะ
  2. เก็บผลกาแฟที่แห้งคาต้น และตกหล่นมาทำลาย
  3. กับดักสามารถใช้ลดการแพร่กระจาย และบ่งบอกถึงจำนวนของมอดในสวนได้
  4. ป้องกันไม่ให้มอดหลุดเข้ามาที่สวน

Reference

Observing the devastating coffee berry borer (Hypothenemus hampei) inside the coffee berry using micro-computed tomography

Population dynamics and distribution of the coffee berry borer, Hypothenemus hampei (Ferrari) (Coleoptera: Scolytidae) on Coffea arabica L. in Southwestern Ethiopia

The Coffee Berry Borer (Hypothenemus hampei) Invades Hawaii: Preliminary Investigations on Trap Response and Alternate Hosts

แถม

Correlation between numbers captured and infestation levels of the Coffee Berry-borer, Hypothenemus hampei: A preliminary basis for an action threshold using baited traps

 
 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.