ชนิดของ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) ตอนที่2

หลังจากที่กล่าวถึงส่วนประกอบหลักของ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) ที่มีอยู่ในตลาดกันไปแล้ว
คราวนี้เราจะมาลองดูส่วนประกอบอื่นๆของเครื่องชงเอสเปรสโซ และ ตัวอย่างของเครื่องรุ่นล่าสุดกัน

*สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่าน Part 1 กดเลย

 

ระบบควบคุมอุณหภูมิ

เพื่อป้องกันและควบคุมความร้อนของหม้อต้มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการที่หม้อต้มร้อนเกินไป ระบบที่นิยมนำมาใช้กับเครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) คือ Thermostat/Pressurestat และ PID

1

Thermostat / Pressurestat

เทอร์โมสตัต และ เพรสเชอร์สตัต ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ และแรงดันสำหรับหม้อต้ม โดยใช้กลไกของการขยายและหดตัวของโลหะ เมื่อความร้อนของหม้อต้มสูงขึ้นจะทำให้โลหะภายในเทอร์โมสตัตขยายตัว และเมื่อโลหะขยายตัวจนถึงจุดที่ตั้งไว้ ระบบกลไกก็จะตัดการทำงานของหม้อต้ม

เพรสเชอร์สตัตก็มีการทำงานคล้ายคลึงกัน โดยจะใช้แรงดันไอน้ำจากหม้อต้มไปดันสวิสต์เมื่อหม้อต้มมีแรงดันสูงว่าที่ตั้งไว้ กลไกก็จะตัดการทำงานของหม้อต้ม

แต่ข้อเสียของสองระบบนี้เมื่อเทียบกับระบบดิจิตอลแล้วคือทำให้อุณหภูมิที่ควบคุมมีละเอียดน้อยกว่าและการตั้งอุณหภูมิยากกว่า

2

PID

Proportional Integral Derivative

อุปกรณ์สำหรับควบคุมอุณหภูมิหม้อต้ม โดยจะทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกอุณหภูมิที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย โดยที่ PID จะควบคุมการส่งพลังงานให้กับหม้อต้ม และควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เราต้องการโดยตลอด PID บางยี่ห้อสามารถความคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับบวกลบหนึ่งองศาเซลเซียส ซึ่ง PID นั้นไม่ได้มีผลต่อรสชาติของเอสเปรสโซแต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิให้คงที่

ปั้มน้ำ

Water Pump

ปั้มน้ำสำหรับ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) จะมีทั้งหมด 2 แบบหลักๆ

1. แบบสั่น

2. แบบโรตารี่

1

ปั้มแบบสั่น

Vibration Pump

ปั้มแบบนี้จะใช้ลูกสูบและพลังงานแม่เหล็กในการดึงลุกสูบเดินหน้าถอยหลังทำให้เกิดแรงดัน แต่เนื่องจากต้องมีการเคลื่อนที่เข้าออกทำให้แรงดันที่ได้อาจจะไม่เสถียรและมีเสียงดังกว่าแบบโรตารี่ แต่มีข้อดีคือมีขนาดเล็กและราคาถูกกว่าแบบอื่นๆ จะพบได้กับเครื่องชงหัวเดียว 

2.

ปั้มแบบโรตารี่

Rotary Pump

มีทั้งหมดสองแบบ 2.1 แบบครีบ (Vane pump) และ 2.2 แบบเฟือง (Gear pump) โดยที่ปั้มทั้งสองแบบจะถูกหมุนโดยมอเตอร์ ทำให้มีขนาดใหญ่กว่าและมีอายุการใช้งานที่นานกว่าแบบสั่น พบได้กับเครื่องระดับ Commercial

2.1

ปั้มโรตารี่แบบครีบ

Vane Pump

รูปจาก http://www.fluidotech.it/Pages/fluidotech_english.aspx

ปั้มแบบนี้จะให้แรงดันที่คงที่กว่าแบบสั่น เนื่องจากมีครีบติดอยู่บนตัวหมุนหลายด้านของตัวหมุนทำให้สามารถสร้างแรงดันได้ตลอดระหว่างหมุน ซึ่งจะต่อเนื่องและคงที่กว่าแบบสั่น

2.2

ปั้มโรตารี่แบบเฟือง

Gear Pump

รูปจาก http://www.fluidotech.it/Pages/fluidotech_english.aspx

ปั้มแบบเฟืองนั้นมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าปั้มแบบครีบ แต่ได้ข้อดีจากขนาดที่เล็กทำให้ประหยัดพื้นที่ในเครื่องได้ 

ปัจจุบันนี้เครื่องเอสเปรสโซได้มีการพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นทำให้บาริสต้าสามารถปรับเปลี่ยนตัวแปรให้เหมาะกับกาแฟที่ใช้ได้อย่างอิสระ เช่นการปรับแรงดันระหว่างชง (Pressure Profile), การปรับการไหลของน้ำระหว่างชง (Flow Restrictor) และ การปรับอุณหภูมิระหว่างชง (Temperature Profile)

เครื่องที่สามารถปรับแรงดันระหว่างชง

Pressure Profile

Synesso

Synesso Hydra เป็นเครื่องชงแบบสองหม้อต้ม หรือ หลายหม้อต้ม คล้ายกับสเลเยอร์ แต่มีระบบการควบคุมน้ำที่แตกต่างกัน โดยระบบที่ซินเนสโซใช้จะเป็นการควบคุมแรงดันโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า บายพาส วาล์ว (Bypass Valve) ซึ่งบายพาสวาล์วจะปล่อยน้ำที่ไหลออกจากปั้มไปยังน้ำที่ไหลเข้าปั้ม ทำให้แรงดันของน้ำที่ออกจากปั้มลดจาก 9 บาร์เหลือ 7 บาร์ รวมทั้งลดการไหลของน้ำลงเล็กน้อย โดยซินเนสโซ ใช้ประโยชน์จากแรงดัน7 บาร์, 9 บาร์, และแรงดันจากหม้อต้มเพื่อควบคุมแรงดันระหว่างการสกัดกาแฟ 

จากหม้อต้มเพื่อควบคุมแรงดันระหว่างการสกัดกาแฟ ทำให้ซินเนสโซสามารถปรับเปลี่ยนแรงดันระหว่างชงได้ถึงสามระดับ

*แรงดันจาก Bypass valve สามารถปรับได้ตามต้องการ

La Marzocco Strada ep

La mazocco Strada Ep มีระบบที่ทำให้ผู้ใช้สามารถความคุมแรงดันระหว่างการสกัดกาแฟได้ โดยใช้ระบบที่แตกต่างกับ Synesso แทนที่จะใช้ Bypass valve แต่ Strada EP  ใช้ Gear Pump ในการทำงานโดยที่ระบบสามารถควบคุม Gear Pump ให้ทำงานที่แรงดันใดก็ได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกแรงดันที่ต้องการได้อย่างอิสระระหว่างชง

เครื่องที่มีการปรับการไหลของน้ำระหว่างชง

Flow Profile

Slayer

Slayer เป็นเครื่องชงแบบสองหม้อต้มหรือเป็นแบบหลายหม้อต้มขึ้นอยู่กับจำนวนหัวชง สำหรับหนึ่งหัวชงจะมีสองหม้อต้มและมีท่อทองแดงพันรอบหม้อต้มสำหรับสตรีมนม ส่วนเครื่องที่มีสองหัวชงขึ้นไปจะมีหม้อต้มอีกหนึ่งอันสำหรับการอุ่นน้ำก่อนที่จะเข้าหม้อต้มทั้งสองอัน และมีการดีไซน์พิเศษสำหรับหัวชงคือ มีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำ (Needle Valve) ทำให้บาริสต้าสามารถควบคุมปริมาณการไหลของน้ำที่จะไหลมายังหัวชงโดยที่ปั้มน้ำทำงานที่แรงดัน 9 บาร์ตลอดเวลา

เครื่องที่มีการปรับอุณหภูมิระหว่างการชง

Temperature Profile

Rancilio Xcelsius

Rancilio Xcelsius ด้วยการออกแบบพิเศษของ Rancilio โดยนำหม้อต้มมาไว้บนหัวกรุ๊ปทำให้ผู้ใช้สามารถปรับอุณหภูมิของน้ำระหว่างการชงได้

เราจะเห็นได้ว่าการออกแบบระบบต่างๆนั้นได้ถูกออกแบบมาเพื่อเสถียรภาพของอุณหภูมิในการชงกาแฟ เพื่อที่จะทำให้ได้รสชาติกาแฟที่มีความคงที่เมื่อทำการชงแบบต่อเนื่อง หรือออกแบบมาเพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวแปรระหว่างการชงทำให้เหมาะสมกับกาแฟที่ใช้ 

พวกเราหวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนเช้าใจเรื่องเครื่องชงเอสเปรสโซมากยิ่งขึ้น และพบกันใหม่ในบทความถัดไป 😉 

Thank You Beans Here

One thought on “ชนิดของ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) ตอนที่2

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.