ชนิดของ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) ตอนที่ 1

เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) ในตลาดนั้นมีตัวเลือกที่เยอะมาก ตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาทไปจนถึงราคาหลายแสนบาท

ทำให้การเลือกซื้อเครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine)สักเครื่องนั้นเป็นเรื่องปวดหัวสำหรับใครหลายๆคน

ดังนั้นลองมาดูกันดีกว่าว่าเครื่องชงแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร

เริ่มจากทำความรู้จักส่วนประกอบหลักของ เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine)กันก่อน

ส่วนประกอบสำคัญทั้ง 4 คือ

1. หัวกรุ๊ป หรือ หัวชง

เป็นบริเวณที่ยึดของก้านชงทำหน้าที่เพื่อจ่ายและกระจายน้ำเพื่อการสกัดกาแฟเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงที่อุณหภูมิที่เหมาะสม

2. ก้านสตรีม

ถูกออกแบบมาเพื่อปล่อยแรงดันน้ำจากหม้อต้มออกมาเพื่อใช้สำหรับการสตรีมนม

3. หม้อต้ม

ให้ความร้อนกับน้ำ ทำให้น้ำที่อยู่ในหม้อต้มมีอุณหภูมิถึงจุดที่ตั้งไว้ และรักษาอุณหภูมิให้คงที่

4. ปั้มน้ำ

ทำหน้าที่จ่ายน้ำเข้าหม้อต้มและสร้างแรงดันสำหรับการสกัดกาแฟ

*เครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine) บางชนิดจะไม่มีปั้ม เช่นเครื่องคันโยกเนื่องจากแรงดันที่ใช้สำหรับการสกัดกาแฟนั้นเกิดจากกลไกภายนอก

ระบบของเครื่องชงเอสเปรสโซ่ (Espresso Machine)สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1

แบบหม้อต้มเดี่ยว

Single Boiler 

โดยเครื่องชนิดนี้จะมีหม้อต้มแค่หนึ่งอันทำหน้าที่ทั้งชงเอสเปรสโซ่และสตรีมนม ผู้ใช้จะต้องทำการเลือกว่าจะต้องการให้สกัดเอสเปรสโซหรือสตรีมนม เพราะการสตรีมนมโดยทั่วไปแล้วใช้อุณหภูมิที่สูงกว่าการสกัดเอสเปรสโซ เนื่องจากอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการสตรีมนมและสกัดเอสเปรสโซต่างกัน ทำผู้ใช้ต้องรอหม้อต้มต้องปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมก่อนที่จะใช้งานซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดด้อยของเครื่องชงชนิดนี้

สำหรับเครื่องชงแบบหม้อต้มเดี่ยวบางชนิดจะใช้ก้านชงที่เรียกว่า pressurized portafilter หรือ ก้างชงแบบมีแรงดัน โดยก้านชงแบบนี้ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบลักษณะแรงต้านของก้านชงปกติที่ใช้กาแฟที่คั่วมาใหม่ บดละเอียดและอัด(Tamp)อย่างเหมาะสม ทำให้เมื่อเรานำกาแฟเก่าหรือกาแฟบดหยาบมาชงด้วย Pressureized portafilter แล้วจะทำให้กาแฟออกมาดูมีครีม่าที่สวยงาม

วิธีสังเกต คือการชงโดยใช้ pressurized portafilter นั้นไม่จำเป็นต้องอัด (Tamp) ผงกาแฟ ส่วนตะกร้าที่ใส่ผงกาแฟจะมีรูน้ำออกแค่หนึ่งรู และมีอุปกรณ์พิเศษติดอยู่กับรูน้ำไหลออก

2

หม้อต้มแบบแลกเปลี่ยนความร้อน

Heat Exchange Boiler

เป็นเครื่องที่ได้รับการพัฒนามาจากหม้อต้มเดี่ยว ซึ่งส่วนประกอบยังคงมีหม้อต้มแค่อันเดียว แต่จะมีท่อที่ผ่ากลางหม้อต้มทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนของน้ำที่ไหลผ่านท่อกับน้ำร้อนที่อยู่ในหม้อต้ม ทำให้น้ำที่ไหลผ่านท่อมีความร้อนเช่นเดียวกัน โดยน้ำที่ไหลผ่านท่อจะมุ่งหน้าไปยังหัวกรุ๊ปสำหรับการสกัดเอสเปรสโซ ดังนั้นน้ำในหม้อต้มจึงใช้สำหรับการสตรีมนมเพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถสกัดเอสเปรสโซและสตรีมนมได้ในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาของเครื่องชงแบบขนิดนี้คือถ้ามีการสกัดเอสเปรสโซติดต่อกันอาจจะทำให้น้ำร้อนไม่ทันการใช้งาน และอาจจะมีปัญหาเรื่องอุณภูมิที่ไม่เสถียรจากทั้งน้ำที่ร้อนไม่ทัน หรือน้ำร้อนเกินไปจากน้ำที่ค้างอยู่ในท่อเป็นเวลานาน

3

หม้อต้มคู่

Double Boiler

เป็นการพัฒนาต่อมาจากเครื่องแบบแลกเปลี่ยนความร้อน เครื่องชงที่มีสองหม้อต้มนั้นจะมีหม้อต้มแยกระหว่างการสตรีมนม และการสกัดเอสเปรสโซ ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิสำหรับการชงและการสตรีมนมได้ดียิ่งขึ้น สามารถสกัดเอสเปรสโซได้ต่อเนื่อง มีอุณหภูมิเสถียรมากขึ้น โดยปัญหาเดียวของเครื่องชงลักษณะนี้คือราคาที่สูง

4

หม้อต้มคู่แบบแลกเปลี่ยนความร้อน

Heat Exchange Double Boiler

เป็นการออกแบบที่รวมเอาข้อดีของหม้อต้มคู่และเครื่องแบบแลกเปลี่ยนความร้อนเข้าด้วยกัน โดยที่น้ำที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่หม้อต้มสำหรับการสกัดเอสเปรสโซจะไหลผ่านหม้อต้มสำหรับการสตรีมนม ทำให้น้ำที่เข้าสู่หม้อต้มสำหรับการสกัดเอสเปรสโซมีความร้อนเพื่อทำให้อุณหภูมิในหม้อต้มสำหรับสกัดเอสเปรสโซมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น

5

เครื่องชงแบบหลายหม้อต้ม

Multi Boiler

เป็นระบบของหม้อต้มที่พบได้ในเครื่องชงกาแฟตัวใหญ่ที่มีสองหัวชงขึ้นไป คล้ายกับแบบสองหม้อต้มและสองหม้อต้มแบบแลกเปลี่ยนความร้อนโดยที่แต่ละหัวชงจะมีหม้อต้มแยกไปแต่ละหัวชง และมีหม้อต้มใหญ่สำหรับการสตรีมนม ทำให้สามารถตั้งอุณหภูมิแต่ละหัวชงแตกต่างกันได้ สำหรับชงกาแฟต่างชนิดกัน

นอกจากระบบต่างๆที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีเรื่องอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นต้องคำนึงถึงด้วยเช่น PID และ ปั้มน้ำ รวมถึงรายละเอียดพิเศษของเครื่องบางยี่ห้อที่ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมตัวแปรอื่นๆได้อย่างอิสระ

Thank You Beans Here

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.