Dalla Corte Real Life review Cover

Dalla Corte Mina Review : challenger to the flow profiling’s throne

Intro & Disclaimer

“Dalla Corte Mina เป็นเครื่องชงหัวเดียวที่ผู้เขียนติดตามมานาน เพราะมีแนวคิดคล้ายกับ Slayer ที่ผู้เขียนใช้งานอยู่ แต่เป็นการควบคุมและตั้งค่าทั้งหมดผ่านแอพฯ บนมือถือแทน สำหรับเครื่องที่นำมาทดสอบนี้ผู้เขียนได้ยืมมาจาก Happy Espresso ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย Dalla Corte ที่ดูแลยี่ห้อนี้มาเป็นสิบปีแล้ว โดยในการรีวิวผู้เขียนไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ และพี่บุ๊ง จาก Happy Espresso ยืนยันว่าสามารถเขียนติชมได้ตามจริงได้เลย ไม่มีเซนเซอร์ และไม่ต้องส่งไปให้ตรวจสอบก่อนเผยแพร่” – K.Note

Mina’s Features

1.Multiboilers 

1.1 Brew Boiler

Mina เป็นเครื่องชงในระบบ Multiboilers คือมีหม้อสตีม แยกกับหม้อชง ที่ผู้ใช้สามารถตั้งอุณหภูมิทั้งสองหม้อแยกกันอย่างอิสระผ่านแอพฯ โดยหม้อชงสามารถตั้งได้ละเอียดทีละ 0.1°C ส่วนหม้อสตีมตั้งได้ทีละ 1°C จนถึงสูงสุดที่ 125°C (เมื่อตั้งอุณหภูมิสูงสุด จะได้แรงดันสตีมประมาณ 1.2 bar) สามารถเลือกปิดเปิดหม้อสตีมได้ ในกรณีที่ไม่ต้องการสตีมนมเลย (กินแต่เอสเพรสโซ, อเมริกาโน กับกาแฟเย็นรัวๆ) ก็สามารถปิดหม้อสตีมได้โดยไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพหรือความเสถียรของอุณหภูมิในการชงกาแฟ

2-Dalla Corte Mina-multi-boilers

แนวคิดของหัวชงของ Mina คือการรวมเอาหม้อต้มขนาดเล็กๆ ไว้กับหัวกรุ๊ปชงกาแฟ (integrated independent boiler) เพื่อให้คุมอุณหภูมิของการชงกาแฟได้ใกล้ชิดกว่า โดยที่น้ำที่เติมเข้าหม้อต้มจะมาจากท่อน้ำเข้าตรงๆ แล้วมีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำขาเข้าเพื่อคุมการทำความร้อนให้สอดคล้อง (ต่างจากแนวคิดแบบอื่นๆ เช่นบางเครื่องมีหม้ออุ่นน้ำเล็กๆ ก่อนส่งน้ำเข้าหม้อชง, หรือบางเครื่องใช้น้ำจากท่อที่ผ่านหม้อสตีมมาเพื่อให้น้ำอุ่นก่อนเข้าหม้อชง) 

สำหรับข้อดีของแนวทางนี้คือ Mina เมื่อเปิดเครื่องจะพร้อมชงได้ภายใน 3 นาที (เพราะหม้อชงเล็กมากและให้ความร้อนโดยตรงกับหัวชงเลย) และการเปิดหรือปิดหม้อสตีมไม่มีผลกับความเสถียรของอุณหภูมิในหม้อชง โดยผู้เขียนได้ทดสอบวัดอุณหภูมิเมื่อชงตอนเปิดเครื่อง 5 นาที กับตอนที่เปิดเครื่องทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ไม่พบความแตกต่างของอุณหภูมิ

3_Dalla Corte App temp

จากการทดสอบโดยดูอุณหภูมิที่หัวชงจากในแอพฯ พบว่าเมื่อเริ่มชงอุณหภูมิที่หัวชงจะต่ำกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ 1°C และท้ายๆชอตจะอุณหภูมิตกลงไปต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 1.5°C และเมื่อชงเสร็จอุณหภูมิจะกลับมาสู่จุดที่ตั้งไว้ภายในประมาณ 30 วินาที ทำให้ชอตต่อไปก็สามารถชงต่อได้เลยไม่เพี้ยนถ้าชงต่อกันในสปีดประมาณนี้

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าอุณหภูมิการชงของ Mina แม้จะดูเหมือนตกกว่าจุดที่ตั้งไว้เยอะ แต่จริงๆ แล้วทำงานด้วยง่าย เพราะคาดเดาได้สม่ำเสมอ (จากการทดสอบชงเทียบกันมา สำหรับกาแฟตัวเดียวกัน ผู้เขียนจะตั้งอุณหภูมิที่ Mina สูงกว่า Slayer 1°C เสมอ ก็จะได้ชอตที่ใกล้เคียงกันมาก)

ซึ่งในความเป็นจริง เครื่องชงระบบ double/multiboilers ทุกรุ่นอุณหภูมิจริงระหว่างที่ชงก็จะมีความเคลื่อนไหวจากจุดที่ตั้งไว้อยู่แล้ว ไม่ได้คงที่ตลอดแบบอุดมคติ ตัวอย่างเช่น Slayer ที่ใช้งานอยู่ตลอด อุณหภูมิจะเคลื่อนที่บวกลบประมาณ 0.5c ถึงแม้จะดูคลาดเคลื่อนน้อยกว่า แต่สิ่งที่น่ารำคาญคือมันไม่ได้ตกอย่างเดียว มันมีเกินด้วย ทำให้ในบางชอต (โดยเฉพาะจังหวะที่ยังเปิดเครื่องไม่นานพอ หรือเป็นชอตแรกของวัน) มีอุณหภูมิเกินกว่าที่ตั้งไว้และทำให้มีรสขมหลุดออกมาได้ (Slayer ออกแบบให้ท่อน้ำเข้าหม้อชงผ่านหม้อสตีมมาก่อนเพื่ออุ่นน้ำก่อนเข้าหม้อชงไม่ได้เติมน้ำเย็นเข้าหม้อชงแบบ Mina ดังนั้น Slayer ควรเปิดหม้อสตีมไว้ตลอดเพื่อความเสถียรของอุณหภูมิหม้อชง)

ในขณะที่เครื่องชง Double boiler E61 ที่ผู้เขียนใช้มาก่อนหน้า Slayer (และรุ่นอื่นๆ ที่เคยสัมผัสมา) ก็จะมีปัญหาอุณหภูมิตกท้ายชอตเยอะกว่าเครื่องในตระกูล Saturated group มาก (โดยที่เครื่องอาจจะบอก หรือแสดงค่าหลอกไม่ให้ผู้ใช้รู้) แต่ก็มีข้อดีคือชอตที่ได้จากเครื่องชง E61 มักจะกลมๆ ไม่ขม และชงง่ายกว่าเครื่องในตระกูล Saturated group ที่จะได้รสชัดกว่า

อ่านเพิ่มเติม ชนิดของเครื่องชงเอสเปรสโซ่ ตอนที่ 1 

1.2 Steam Boiler

4_Dalla Corte mina Steam ward

ส่วนการสตีมนม สามารถตั้งอุณหภูมิหม้อสตีมได้สูงสุดที่ 125°C ซึ่งจากการทดสอบสร้างแรงดันในหม้อสตีมได้ 1.2 bar  สัมผัสแรกที่จับก้านสตีมก็รู้สึกติดขัดนิดหน่อย เพราะไม่ได้เป็นก้านสตีมแบบยาวๆ และปรับองศาได้อิสระแบบ Slayer หรือเครื่องชงรุ่นท้อปๆ อื่น (ลักษณะจะคล้ายก้านสตีมของ La Marzocco Linea Mini) แต่เมื่อลองสตีมก็พบว่าถึงแม้ก้านจะขยับได้ในองศาที่จำกัด แต่ก็เป็นองศาที่เหมาะกับการสตีมอยู่แล้ว และมีการออกแบบรูของก้านสตีมที่ดี (เป็นแบบ 3 รู) ทำให้สามารถสตีมนมได้เนียนมากง่ายๆ ตั้งแต่แก้วแรกที่สตีม 

ในกรณีที่เปิดการทำงานหม้อสตีมด้วย หม้อสตีมจะพร้อมใช้งานประมาณ 14 นาที โดยเมื่อหม้อชงพร้อมใช้งานก่อนไฟสำหรับโหมดการชงจะติดให้สั่งงานได้ตอน 3 นาที และเมื่อหม้อสตีมพร้อมใช้งาน ไฟสำหรับโหมดสตีมจะติด และมีเสียงสัญญาณดังออกมาบอกว่าการเปิดเครื่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

การต่อน้ำเข้าสามารถต่อกับท่อน้ำ หรือใช้จุ่มถังก็ได้ โดยเมื่อติดตั้งครั้งแรกจะมีโปรแกรมรีเซตที่เครื่องจะรันเพื่อทดสอบแรงดันน้ำขาเข้า และคำนวณปริมาณน้ำเข้าให้ถูกต้องก่อนการใช้งาน จากการทดสอบพบว่าน้ำที่ออกจากหัวชง (โดยที่ไม่ได้ใส่ก้านชง) มีflow ที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งผ่านแอพฯมาก

2.Flow Profile

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ Flow Profile (และ Pressure Profile) ได้รับการยอมรับว่ามีผลกับการชง และสามารถเปลี่ยนแปลงรสชาติของเอสเพรสโซได้ 

ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Flow profile และ Pressure profile 

โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเครื่อง Slayer เมื่อ 5 ปีก่อนก็ศึกษาเปรียบเทียบข้อแตกต่างของทั้ง 2 แนวคิด และเลือกใช้ Flow profile ซึ่งคือการคุมปริมาณน้ำที่เข้าสู่หัวชงว่ามีปริมาณเท่าไรต่อวินาที (ไม่ได้ปรับแรงดันของปั๊มระหว่างการชง) โดยเพื่อให้เห็นภาพเครื่องชงที่ไม่มีระบบนี้มีท่อน้ำที่ฉีดน้ำเข้าหัวชงที่มีขนาดเดียว ส่วนเครื่องที่คุม Flow ได้ จะมีท่อน้ำเข้าที่ปรับขนาดได้ ช่วงที่เริ่มชง (Pre-infusion) เราอาจจะส่งน้ำเข้าทีละน้อยๆ (เหมือนการพรมน้ำ)  เมื่อเข้าสู่ช่วงสกัดกาแฟ ก็ส่งน้ำเข้าทีละเยอะขึ้นได้ 

การคุมปริมาณน้ำเข้าของ Mina เรียกว่า Digital Flow Regulation (DFR) ซึ่งเราสามารถกำหนดปริมาณน้ำในหน่วย gram/second ได้เลยแบบดิจิตัลผ่านแอพฯ และในแต่ละการชงสามารถตั้ง Flow ที่ต้องการไว้ได้ 5 ขั้น และตั้งเวลาว่าให้ชงในแต่ละขั้นกี่วินาที ตัวอย่างเช่น

5 Dalla Corte Mina Flow-designหน้าจอที่ใช้ออกแบบ Flow profile

ขั้นที่ Flow (gram/second) เวลา (seconds)
1 2 3
2 4 3
3 10 12
4 8 15
5 6 จนจบชอต

*ในกรณีที่เลือกโหมด manual การเปลี่ยนขั้นจะคุมโดยเลื่อนคันโยก

ส่วน Slayer จะทำ Flow profile โดยมี flow 2 ขั้น คือขั้น Pre-brew และ Full-brew โดยมี flow ช่วง Full-brew อยู่ที่ 10g/s (ปรับไม่ได้) ส่วน flow ในช่วง Pre-brew สามารถปรับโดยหมุนวาลว์ (Needle valve)

ซึ่งข้อดีคือสามารถหมุนปรับได้แบบ stepless ตั้งแต่ 0g/s จะปรับเท่าไรก็ได้ (เทียบกับ Mina ที่ปรับทีละ 0.5g และเริ่มที่ 2.0g/s)

แต่ข้อเสียใหญ่ก็คือมันไม่มีขั้นบอกว่าที่หมุนๆ เป็นกี่ g/s ต้องใช้วิธีลองเปิดน้ำแล้วชั่งน้ำหนักน้ำที่ออกมา+จับเวลาเอาเอง ทำให้่การปรับไม่สะดวกมากๆ นอกจากนี้ด้วยความที่ Slayer มี flow แค่ 2 ขั้น (ก้านชงตำแหน่งขวาสุด = ปิด, ตรงกลาง = pre-brew, ซ้ายสุด = full-brew) ทำให้เป็นข้อจำกัดว่าถ้าจะใช้น้ำที่โฟลว์ต่ำตอนท้ายชอต ก็จะต้องใช้โฟลว์เดียวกันกับโฟลว์ที่ใช้ทำ preinfusion ตอนแรกด้วย

ในขณะที่ Mina สามารถตั้ง flow ได้ถึง 5 ขั้นเลย ทำให้ผมสามารถใช้โฟลว์ช่วง preinfusion เบาๆ พรมน้ำ, โฟลว์ตอนสกัดหลักสูงหน่อย, โฟลว์ตอนท้ายชอตเบาลงมานิดนึง (แต่สูงกว่าโฟลว์ตอนแรกที่แค่พรมๆ) ซึ่งเท่าที่ใช้งานผมคิดว่าส่วนใหญ่ตั้ง flow แค่ 3 ขั้นดังกล่าวก็เพียงพอแล้ว มักจะไม่ได้ตั้งเยอะถึง 5 ขั้นครับ

3. 54mm & 58mm

สิ่งที่เครื่องชงยี่ห้อ Dalla Corte แตกต่างจากเครื่องชงระดับโปรฯ ยี่ห้ออื่นๆ ก็คือการที่ Dalla Corte เลือกใช้หัวชงขนาด 54mm แทนที่จะเป็น 58mm แบบยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Dalla Corte เชื่อมั่นมากๆ ว่าตะกร้าชงขนาด 54mm ดีกว่า 58mm (และแทบจะทุกคนที่ผู้เขียนคุยด้วยเรื่อง Dalla Corte ก็จะพูดออกมาเป็นประโยคแรกๆ เลยว่าไม่สน Dalla Corte เพราะหัวชงไม่ใช่ขนาด 58mm นี่แหละ) ซึ่่งเจ้า Mina เองก็มากับหัวชงขนาด 54mm โดยมากับ shower screen, และ basket 2 ขนาดของ IMS (เครื่องจะมาพร้อมกับ ก้านชงแบบ 1 ขา, 2 ขา, ตะกร้า 54mm 2 ขนาด, ตะกร้าแบคฟลัช) 

สำหรับคนที่ไม่ชอบ 54mm ก็สามารถเปลี่ยนเป็นหัวชงขนาด 58mm ได้ง่ายมากแค่ไขน็อตตัวเดียว เหมือนกับการถอด shower screen มาล้าง ตามปกติ แต่ถอดทั้ง shower screen และตัวกระจายน้ำมาเปลี่ยนเป็นขนาด 58mm ได้เลย โดย Dalla Corte ขาย 58mm kit ซึ่งประกอบด้วย shower screen + ตัวกระจายน้ำ, ตะกร้าชงขนาด 58mm และก้านชงสองขาขนาด 58mm 

6_Dalla Corte Mina 54mm Shower Screenตัวกระจายน้ำและชาวเวอร์สกรีนแบบ 54mm vs 58mm

สำหรับผู้เขียนเอง ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะใช้ตะกร้า 54mm เพื่อทดลองเครื่องตามแบบที่ผู้ผลิตคิดว่าดีที่สุด (และอยากพิสูจน์ว่า 54mm มันดีกว่า 58mm จริงหรือไม่) แต่เมื่อลองใช้งานได้แค่วันสองวันก็ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ 58mm และไม่เปลี่ยนกลับมาใช้ 54mm อีกเลย ซึ่งสาเหตุที่เปลี่ยนก็ไม่ใช่เพราะ 58mm ชงได้ดีกว่า 54mm แต่เป็นเพราะความสะดวกในการใช้งานมากกว่า เพราะเมื่อใช้ 58mm ผู้เขียนสามารถใช้งาน doser, tamper และอุปกรณ์ตัวช่วยต่างๆ ที่มีอยู่แล้วได้เลย ทำให้คุ้นเคยกับการใช้งาน และได้ชอตที่คงที่มากกว่า (อาจมาจากติดนิสัยใช้ตัวช่วยจนชิน) 

**ถึงแม้จะเปลี่ยนเป็น 58mm แล้ว แต่สำหรับ Mina ตัวที่ได้มาทดสอบ จะต้องใช้งานตะกร้า 58mm ของ IMS ที่ทำพิเศษให้กับ Dalla Corte เท่านั้น เพราะถึงแม้ก้านชง 58mm ที่แถมมาจะสามารถเอาตะกร้า 58mm ยี่ห้อใดๆ ก็ได้มาใส่ แต่ห้องของหัวกรุ๊ปของเครื่องจะเล็กกว่าหัวกรุ๊ปทั่วไปอยู่นิดนึง ทำให้ใส่ก้านชงไม่เข้า (ส่วนปีกที่วางอยู่บนก้านชงของ Dalla Corte แบบ 58mm จะแคบกว่าตะกร้า 58 ปกติ รวมถึงตะกร้า IMS ทั่วไปด้วย) 

7_Dalla Corte basket 54 vs 58ตะกร้าพิเศษของ Dalla Corte (ตรงกลางแถวล่างสุด) จะมีไหล่ที่แคบกว่าตะกร้าทั่วไปอยู่นิดนึง

4.App & Workflow

แอพลิเคชันบนมือถือ (แอนดรอยด์ หรือ iOS) จะใช้ในการตั้งค่าต่างๆ ของเครื่อง เช่น อุณหภูมิของน้ำที่ชงกาแฟ, อุณหภูมิหม้อสตีม และออกแบบ flow ในการชง 

8_Dalla Corte Mina Application UIเมื่อออกแบบ Flow ไว้ ขณะชงจะแสดงสถานะการชงแบบเรียลไทม์ และแสดง Flow ของน้ำกาแฟที่ชงออกมาด้วย

จากการใช้งานถึงแม้ User interface ของเครื่อง และแอพฯ จะไม่ได้ใช้งานง่ายแบบที่มาถึงก็ใช้เป็นทันที แต่เมื่อรู้วิธีใช้แล้ว ก็สามารถสั่งการทุกอย่างได้อย่างที่ต้องการ 

5.Testing

จากการทดลองชงกาแฟตั้งแต่คั่วอ่อนมากๆ (จากโรงคั่วนอร์ดิก), กาแฟจากยุโรป, ออสเตรเลีย, ไปจนถึงกาแฟที่เข้ม (จากโรงคั่ว 3rd wave อเมริกา) รวมๆ แล้วหลายกิโล พบว่า Mina สามารถสกัดชอตได้ดีมาก, Extraction สูง ในการทดลองทั้งหมดใช้คู่กับเครื่องบด EK43 และใช้ตะกร้า 58mm เป็นส่วนใหญ่ โดยทุกตัวผู้เขียนจะลองชงด้วย Slayer ที่คุ้นเคยก่อน เพื่อดูรสชาติรวมๆ และเบอร์บดที่ต้องใช้ จากนั้นจึงใช้เบอร์บดเดียวกันมาลองชงด้วย Mina  

จากการทดสอบกาแฟส่วนใหญ่เมื่อสกัดด้วยโฟลว์แบบปกติ (10 g/s ตลอดชอต ไม่มี preinfusion) มักจะได้ชอตที่ดีมากๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อทดลองปรับโฟลว์หลายๆ รูปแบบ (อุณหภูมิชงเท่าเดิม, บดละเอียดเท่าเดิม) พบว่าได้รสชาติที่แตกต่างอย่างชัดเจน เช่น สามารถเพิ่มความหวาน, เพิ่มบอดี้, ลบความขม หรืออาฟเตอร์เทสท์ขมออกได้ แต่กาแฟบางตัวชอตที่อร่อยที่สุด ก็คือชอตที่ชงปกติไม่มีพรี ไม่มีปรับโฟลว์ใดๆ เลยก็มี ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างกาแฟ 2 ตัวว่าการปรับโฟลว์มีผลอย่างไร

5.1 กาแฟบราซิล Omni roast จาก Lacabra 

กาแฟตัวนี้คั่วค่อนข้างอ่อนสำหรับเอสเพรสโซ แต่ละลายดี หวาน บอดี้ดี และมี acidity ที่ไบรท์ ชงด้วย ratio 19:45 (จริงๆ คิดว่าถ้าชงให้ออกยาวกว่านี้ก็จะสมูทและกินง่ายกว่านี้ครับ)

Profile sweet acidity body bitterness balance aftertaste
10g/s ตลอดการชง  4 4 4 2 3 4
4g/s 4s
10g/s จนจบ
2 5 2 3 2 4
Light roast profile 4 5 4 3 3 3

9 Dalla Corte Mina light_roast_full

โพรไฟล์ที่ 2 ที่ preinfusion 4 วิ เป็นโพรไฟล์ที่อร่อยน้อยที่สุดอย่างชัดเจน (จริงๆ มีทดลองพรี 2g/s 8s ก็ให้ผลที่คล้ายกันแต่แย่กว่าด้วย) เพราะเมื่อเทียบกับชอตที่โฟลว์ 10g/s คงที่แล้ว หวานน้อยลง, บอดี้น้อยลง แต่ acidity มากขึ้น รวมๆ แล้วก็เลยหาข้อดีกว่าโพรไฟล์อื่นๆ ไม่ได้เลย 

โดยส่วนตัวสำหรับกาแฟตัวนี้ผู้เขียนชอบโพรไฟล์แรกที่สุด (โพรไฟล์ที่ไม่ทำโฟลว์โพรไฟล์) เพราะสิ่งที่เด่นมาก่อนเลยคือความหวานชัดเจน และมี acidity ที่ไบรท์ แต่ก็รู้สึกว่ามันหวานพอที่จะทำให้ชอตรวมๆ รู้สึกบาลานส์ได้ โดยที่ไม่มีความขม และอาฟเตอร์เทสท์ก็สบายลิ้นด้วย 

ในขณะที่เพื่อนที่ชวนมาชิมด้วยชอบโพรไฟล์ที่ 3 มากกว่า เพราะหวานพอๆ กับโพรไฟล์แรก แต่ได้ acidity มากกว่า แต่ก็ตามมาด้วย bitterness และดรายอาฟเตอร์เทสท์นิดหน่อย แต่ความขมที่โผล่มานิดๆ นี่เองที่ทำให้ชอตยังบาลานส์ไม่แพ้ชอตแรก

5.2 กาแฟ Blackcat Classic Espresso blend จาก Intelligentsia

กาแฟตัวนี้มีให้ความรู้สึกถึงกาแฟบราซิล natural process คั่วค่อนข้างเข้มชัดเจนมาก หวาน แต่ก็ยังมี acidity ที่ชัดเจน และมีอาฟเตอร์เทสท์แบบดาร์คชอคโกแลต 

Profile sweet acidity body bitterness balance aftertaste
10g/s ตลอดการชง  3 3.5 4 3 5 3
Medium preinfusion 4 3 5 2 5 4
Medium roast profile 2 4 2 2 2 2
10g/s แล้วลดโฟลว์เหลือ 5g/s หลังจากสกัดครึ่งทาง 3 3 3 2 4 2

10 Dalla Corte Mina medium roast

11 Dalla Corte Mina blackcat

กาแฟตัวนี้บาลานส์ดีและชงง่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อลองชงด้วย medium roast profile จากเอกสารของ Mina ซึ่งใช้โฟลว์น้อยตลอดทั้งชอต ซึ่งตอนที่เห็นโฟลว์ครั้งแรกก็สงสัยว่ามันจะเวิร์คหรอ เพราะใช้โฟลว์น้อยตลอด เมื่อชงแล้วก็พบว่าออกมาไม่อร่อยจริงๆ ทุกอย่างดูสกัดออกมาได้น้อยลงหมด ยกเว้น acidity ที่เหมือนจะเยอะขึ้น 

สำหรับชอตที่ดีที่สุดคือ medium preinfusion profile เพราะเหมือนชอตจะสกัดได้สม่ำเสมอขึ้นกว่าชอตที่ไม่ได้พรีเลย ได้ความหวานมากขึ้น acidity นุ่มนวลขึ้น บอดี้ดีขึ้น ความขมน้อยลงและอาฟเตอร์เทสท์ดีขึ้นหวานติดลิ้น

ในขณะที่ชอตที่ชงด้วยโฟลว์ 10 g/s ตลอดก็ถือว่าเป็นชอตที่อร่อย แต่จะมีแผลๆ อยู่นิดหน่อย แต่เมื่อลองลดโฟลว์ตอนครึ่งท้ายของชอตกลับทำให้รวมๆ แล้วทุกอย่างออกมาน้อยลง และกลายเป็นอร่อยน้อยลงด้วย 

สรุป

12 Dalla Corte Mina Review Summary

จากที่ทดลองใช้งาน Mina มา 2 สัปดาห์ และทดลองชงกาแฟไปเกือบ 3 กิโลกรัม โดยส่วนตัวชอบเจ้า Mina มาก เพราะกาแฟทุกตัวเมื่อชงเทียบกับ Slayer แล้วก็ได้ชอตในระดับเดียวกัน มีความแตกต่างในรายละเอียดบ้าง เพราะถึงจะตั้งทุกอย่างให้เหมือนกัน และ Flow เหมือนกัน แต่อุณหภูมิระหว่างชงชอตก็มีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันอยู่ แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเครื่องไหนทำได้ดีกว่า เพราะเมื่อทำ blind taste กาแฟบางตัวชอบชอตจาก Slayer มากกว่า แต่กาแฟบางตัวชอบชอตจาก Mina มากกว่า หรือกาแฟบางตัว บางคนชอบจากสเลเยอร์ บางคนชอบจาก Mina ซึ่งจริงๆ แล้วทั้ง Slayer และ Mina ก็อาจจะสามารถปรับแต่งให้ชอตอร่อยกว่าที่ลองนี้ได้อีกหน่อยทั้งคู่ แต่ด้วยข้อจำกัดที่แต่ละรอบที่ทดลองสามารถชิมได้แค่ 6 แก้ว (ลิ้นเริ่มชาแล้ว) 

แล้วจำเป็นไหมที่ต้องใช้เครื่องชงที่ทำ Flow Profile (หรือ Pressure Profile) ได้ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ใช้ Slayer มา 5 ปี (ก่อนหน้านี้ เคยใช้ Double boiler e61, และ single boiler มาก่อน) ถ้าคุณกินแต่กาแฟนม เครื่องชงระดับที่ทำโพรไฟล์ได้อาจจะไม่สามารถให้ความแตกต่างที่สัมผัสได้จากเครื่องชง double boiler ที่เป็น saturated group (แต่ผมคิดว่ายังได้ความต่างถ้าเทียบกับเครื่องชงแบบ double boiler e61) 

แต่ถ้าคนที่กินกาแฟดำ โดยเฉพาะ espresso เครื่องชงระดับท้อปสร้างความแตกต่างได้มาก สามารถเปลี่ยนแปลงให้ชอตหวานขึ้น acidity มากขึ้น หรือ intense น้อยลง, ทำให้ได้ชอตที่บาลานส์ขึ้น (โดยถ้าใช้เครื่องชงที่ไม่มีโพรไฟล์ ก็อาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการชงชอตที่ยาวขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับบอดี้) 

การปรับแต่งได้เยอะแยะจะวุ่นวายและทำให้ชีวิตยากหรือไม่ จากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อใช้เครื่องจนคล่องแล้ว ก็จะมีสูตรในการชงอยู่ไม่กี่รูปแบบ เมื่อเจอกาแฟในรูปแบบต่างๆ ก็งัดสูตรที่มีมาลองชง ไม่ได้มานั่งปรับแต่งหรือค้นหาสูตรใหม่ทุกครั้ง และก็แทบไม่ได้เล่นอะไรที่แตกต่างจากที่เคยใช้ๆ อยู่เท่าไร ยกเว้นว่าจะไปเจอทฤษฎีการชงแบบใหม่ๆ หรือได้แรงบันดาลใจมาจากการแข่งขันต่างๆ (และว่างพอ) ก็ทดลองเล่นที การที่เครื่องมีลูกเล่นเยอะไม่ได้แปลว่าต้องใช้ให้ครบตลอดเวลา แต่จะมีประโยชน์เมื่อเจอกาแฟที่มีปัญหาแล้วสามารถเอามาแก้ไขได้มากกว่า 

Reference

Dalla Corte 

Roasting & Flow Profiling Adjusting extraction for every roasting profile, Danilo Lodi, Dalla Corte

One thought on “Dalla Corte Mina Review : challenger to the flow profiling’s throne

  1. คุณสกุณา says:

    ชอบนะ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย สำหรับคนงบน้อยแต่อยากดื่มกาแฟ… สตาร์บัค (คอสูงไปป่าวมะรุ้) แค่ได้กลิ่น สารเอนดรอฟินในสมองก็มาแระ ความสุขของคนงบน้อย… มีเครื่องราคาถูกๅ แบบว่ามือ 2 ขายที่ไหนบ้างคะ จะได้ซื้อมาชงเองที่บ้านบ้าง เผื่อจะมีร้านกาแฟเป็นธุรกิจเล็กๆที่บ้านเองบ้างอะคะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.